หลายๆ บริษัทมีการจัดงานทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณี เช่น เลี้ยงพระในวันสงกรานต์ วันปีใหม่ หรือทำบุญประจำปีของบริษัท เป็นต้น และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดงาน เช่น ค่าสถานที่ ค่าอาหารสำหรับพระสงฆ์ และผู้ที่มาร่วมงาน บริษัทจะสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้หรือไม่
พิจารณาแต่ละกรณี ดังต่อไปนี้
1. กรณีการทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณี เช่น ทำบุญประจำปี วันสงกรานต์ วันปีใหม่
หากบริษัทมีระเบียบเกี่ยวกับการจัดงานทำบุญประจำปีตามประเพณีที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปในบริษัท
จัดงานขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ตลอดจนสร้างความสามัคคีกลมเกลียวให้กับพนักงานบริษัท
รายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการโดยตรง
บริษัทสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีการทำบุญเปิดกิจการใหม่
การทำบุญเลี้ยงพระ เนื่องในโอกาสที่เปิดกิจการใหม่ ถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการ
บริษัทสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร
3. กรณีจ่ายค่าที่ปรึกษาให้แก่ซินแสในการดูฮวงจุ้ยของบริษัท เช่น ปรับปรุงสำนักงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการประกอบกิจการให้เจริญรุ่งเรือง
ถึงแม้รายจ่ายจะเกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ก็ถือเป็นรายจ่ายส่วนตัวไม่ใช่รายจ่ายเพื่อประโยชน์ในการหารายได้หรือใช้ในการประกอบธุรกิจของบริษัทโดยตรง
ต้องห้ามไม่ให้นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13)แห่งประมวลรัษฎากร
จากประเด็นข้างต้น รายจ่ายในการทำบุญเลี้ยงพระตามประเพณีหรือเปิดกิจการใหม่ สามารถนำมารวมเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ แต่ค่าที่ปรึกษาที่จ่ายให้แก่ซินแสในการดูฮวงจุ้ยนั้นถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามไม่สามารถรวมเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
อ้างอิง: ข้อหารือจากกรมสรรพากร
Comments