เมื่อนายจ้างเริ่มมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป นายจ้างต้องเป็นผู้จัดทำประกันสังคมให้แก่ลูกจ้างทุกคน ยื่นแบบรายงานและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน
นายจ้างควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนประกันสังคมก่อน ดังนี้
กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่ให้หลักประกันและการคุ้มครองแก่ลูกจ้าง โดยมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนสำหรับ 7 กรณี ต่อไปนี้
เงินทดแทนเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ค่าชดเชยกรณีทุพพลภาพ
ค่าจัดงานกรณีเสียชีวิต
ค่าคลอดบุตร
เงินสงเคราะห์บุตร
ค่าใช้จ่ายยามเกษียณ
ค่าใช้จ่ายเมื่อว่างงาน
หน้าที่ของนายจ้าง
1. หน้าที่ในการขึ้นทะเบียน แต่ละกรณีดังนี้
1.1 เมื่อมีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป (มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีและไม่เกิน 60 ปีในวันเข้าทำงาน)
สิ่งที่ต้องทำ: นายจ้างจะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีลูกจ้าง โดยยื่นแบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส.1-01) พร้อมเอกสารประกอบดังนี้
กรณีนิติบุคคล:
แผนที่ตั้งและภาพถ่ายของสถานประกอบการ
สำเนาหรือภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลพร้อมวัตถุประสงค์
สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) หรือ สำเนาหรือภาพถ่ายคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20) หรือสำเนาหรือภาพถ่ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจ/หุ้นส่วนผู้จัดการที่มีสัญชาติไทย หรือ Passport ของกรรมการผู้มีอำนาจ/หุ้นส่วนผู้จัดการที่เป็นต่างด้าว
หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด) พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
กรณีเจ้าของคนเดียว:
แผนที่ตั้งและภาพถ่ายของสถานประกอบการ
สำเนาหรือภาพถ่ายใบทะเบียนพาณิชย์ หรือใบอนุญาตให้ประกอบกิจการที่ออกตามกฎหมายอื่น ซึ่งระบุชื่อที่อยู่ชัดเจน
สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร หรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือสำเนาภาพถ่ายใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) หรือสำเนาถ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.20)
หนังสือสัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่
หนังสือมอบอำนาจ (เฉพาะกรณีมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทน พร้อมติดอากรแสตมป์ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด) พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ
1.2 เมื่อรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้น
สิ่งที่ต้องทำ: จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วันนับแต่เข้าทำงาน โดยยื่นแบบ สปส.1-03 (สำหรับลูกจ้างที่ไม่เคยขึ้นทะเบียน) หรือแบบ สปส.1-03/1 (สำหรับลูกจ้างที่เคยขึ้นทะเบียนแล้ว) พร้อมเอกสารประกอบดังนี้
หนังสือนำส่งแบบขึ้นทะเบียนประกันตน (สปส.1-02)
บัตรประจำตัวประชาชน
ใบอนุญาตทำงานและสำเนาหนังสือเดินทาง กรณีผู้ประกันตนเป็นชาวต่างชาติ
1.3 เมื่อลูกจ้างลาออกหรือเลิกจ้าง
สิ่งที่ต้องทำ: จะต้องแจ้งการออกจากงานภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยื่นแบบ สปส.6-09
1.4 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงผู้ประกันตน เช่น การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ข้อมูลสถานภาพครอบครัว ข้อมูลจำนวนบุตร
สิ่งที่ต้องทำ: จะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยยื่นแบบ สปส.6-10
2. ยื่นแบบและจ่ายชำระเงินสมทบ
เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องนำเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยเงินสมทบประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1) ส่วนที่นายจ้างหักจากลูกจ้าง ซึ่งคำนวณจาก 5% ของค่าจ้างของลูกจ้าง (กำหนดฐานค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,650 บาท และไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท)
2) ส่วนที่นายจ้างร่วมจ่ายสมทบเท่ากับจำนวนเงินที่รับจากลูกจ้าง คือ 5% ของค่าจ้างของลูกจ้าง
3) ส่วนที่รัฐบาลร่วมจ่าย 2.75% ของค่าจ้างของลูกจ้าง
สิ่งที่ต้องทำ: นายจ้างมีหน้าที่หักเงินสมทบและจ่ายในส่วนของนายจ้าง โดยนำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ พร้อมยื่นแบบ สปส.1-10 ส่วนที่ 1 และสปส.1-10 ส่วนที่ 2
ทั้งนี้นายจ้างควรดำเนินการยื่นแบบขึ้นทะเบียน และยื่นแบบจ่ายชำระเงินสมทบให้ถูกต้องภายในกำหนดเวลาเพื่อป้องกันค่าปรับเพิ่มเติม
อ้างอิง: สำนักงานประกันสังคม
コメント