top of page
Writer's pictureTwenty Four Audit And Accounting

เหตุอันควรกรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน ร้อยละ 25

Updated: Feb 20, 2021

การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) บริษัทจะยื่นเสียภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิและหากประมาณการขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระขาดไป


ดังนั้นกรณีใดบ้างที่ส่งผลให้ประมาณการผิดพลาด โดยผู้ประกอบการอาจไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ทั้งนี้กรมสรรพากรได้กำหนดเหตุอันควรไว้ตามแนวปฏิบัติ มก. 53/2560


เกณฑ์การพิจารณาเหตุอันสมควร มีดังนี้

1. กรณีที่ถือว่ามีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้

  • กรณีจัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว

  • กรณีจัดทำประมาณการกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการไว้ไม่น้อยกว่ากำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว แต่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ไว้น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว เนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี

  • บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อดำเนินการเปรียบเทียบแล้ว พบว่าประมาณการกำไรสุทธิรวมขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิรวม แต่เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายกิจการ ปรากฏว่าประมาณการกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปไม่เกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิสำหรับกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

  • กรณีเปรียบเทียบประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 กับกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 ฉบับหลังสุด ซึ่งยื่นภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 แล้ว พบว่าได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ไว้ขาดไปไม่เกินร้อยละ 25 ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แต่ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น  


2. กรณีประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 แต่สามารถชี้แจงและพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเกิดจากเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีเหตุอันควร

  • เหตุการณ์ที่เกิดในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์หรือควบคุมได้ ดังนี้

1) กิจการเริ่มมีรายได้ในการประกอบกิจการ ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่มีรายได้จากการประกอบกิจการ

2) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำลง ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่ำลงด้วย

3) การส่งออกสินค้ามีความไม่แน่นอนทั้งปริมาณและราคามีการเปลี่ยนแปลงเกิดได้ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้

4) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ

  • เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อพ้นกำหนดการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ซึ่งเกิดจากการมีกำไรจากการขายทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ


3. กรณีที่ไม่มีเหตุอันสมควรตามข้อ 1 และ 2 แต่มีข้อเท็จจริงอื่นที่เป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลัง ซึ่งสามารถชี้แจงและพิสูจน์ได้ว่าส่งผลให้ประมาณการขาดไปเกินร้อยละ 25 โดยสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลางและสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

อ้างอิง: ข้อมูลจากกรมสรรพากร เรื่องการประมาณกำไรสุทธิ และ มก. 53/2560 เรื่อง การพิจารณาเหตุอันสมควรตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

Comments


bottom of page