ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อจะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือ อะไร
ภาษีที่ผู้จ่ายเงินเป็นผู้หักไว้ก่อนจ่ายเงินให้ผู้รับเงิน และนำส่งให้แก่กรมสรรพากร ดังนั้น ผู้รับเงินจะได้รับเงินตามจำนวนหลังหักภาษีพร้อมกับหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย (เอกสารแสดงการหักเงิน) ซึ่งภาษีที่ถูกหักจะถือเป็นการจ่ายภาษีล่วงหน้า สามารถนำไปเป็นเครดิตภาษีได้ตอนยื่นภาษีสิ้นปี
ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องพิจารณาประเด็นดังต่อไปนี้
ประเภทเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าอะไร เช่น จ่ายค่าบริการ ค่าขนส่ง ค่าเช่า
ผู้รับเงินเป็นใคร มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ เช่น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล นิติบุคคลต่างประเทศ
เพื่อใช้ในการกำหนดอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายและรูปแบบการจ่ายภาษี
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ผู้หัก ภาษี ณ ที่จ่ายมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกำหนดเวลา ดังนี้
ยื่นแบบรายเดือน ซึ่งต้องยื่นภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไปจากเดือนที่จ่ายเงินได้ ได้แก่ ภ.ง.ด.1, ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.53, ภ.ง.ด.54
ยื่นแบบรายปี ซึ่งต้องยื่นภายในสิ้นเดือนมกราคมของปีถัดไป ได้แก่ ภ.ง.ด.2ก, ภ.ง.ด.3ก
ยื่นแบบรายปี ซึ่งต้องยื่นภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ได้แก่ ภ.ง.ด.1ก
ผู้ที่ถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ต้องเก็บ "หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย" ไว้เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้รอบสิ้นปี
อ้างอิง: ข้อมูลกรมสรรพากร
Comments